- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท .5 ชูผล 5 ประสาน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง เกษตรกรตอบรับ รายจ่ายลด-เงินออมเพิ่ม
ข่าวที่ 7/2561 วันที่ 31
มกราคม 2561
สศท .5 ชูผล 5 ประสาน 4
จังหวัดอีสานตอนล่าง เกษตรกรตอบรับ รายจ่ายลด-เงินออมเพิ่ม
สศท.5 เผยผลติดตามโครงการ 5 ประสาน
สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวง เป็นผลสำเร็จ เกษตรกร 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง นำความรู้ไปใช้จริง
สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมเดินหน้าต่อเนื่องปี 61 หนุนเกษตรกร น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม
สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลติดตาม
โครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ปี 2560 เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ
รวมทั้งสิ้น 70,000 ราย น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม
ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่
ในการนี้
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5)
ได้ติดตามผลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่
นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ (ข้อมูล ณ มกราคม 2561) พบว่า
มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด รวม 7,936 ราย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 60 อายุเฉลี่ย 50-60 ปี
สมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ยมี 4 คน เป็นแรงงานเกษตรส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 อีกร้อยละ 40
อยู่นอกภาคเกษตร พื้นที่เข้าร่วมโครงการเฉลี่ย 5-7 ไร่ โดยร้อยละ 98
เป็นพื้นที่ของตนเอง
ผลการติดตาม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 87
ได้รับปัจจัยการผลิตครบตามต้องการหรือได้รับปัจจัยมากกว่า 3 อย่างขึ้นไป เช่น กิ่งพันธุ์ ไม้ผลไม้ยืนต้น 2-3 ต้น
เมล็ดพันธุ์ผัก 4-5 ซอง ไก่ไข่ จำนวน 5 ตัว ปลานิล/ตะเพียน 500-3,000 ตัว
และท่อนพันธุ์หม่อน 50 ท่อน โดยเกษตรกรร้อยละ 90 มีพื้นที่ครบองค์ประกอบของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่
(นา-น้ำ-บ้าน-สวน) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและมีการนำความรู้ไปใช้มีถึงร้อยละ
90
ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่
บริโภคเองร้อยละ 35 ขายในชุมชนร้อยละ 27 แจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ร้อยละ 22
และเก็บไว้ทำพันธุ์ร้อยละ 16 ส่วนด้านรายจ่ายเกษตรกรร้อยละ
32 ที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดรายจ่ายลงได้ประมาณ 727 บาท/ครัวเรือน/เดือน หลังจากเข้าร่วมโครงการ
ส่วนใหญ่รายจ่ายลดลงในกิจกรรมพืชผักร้อยละ 52 กิจกรรมปศุสัตว์ร้อยละ 34
กิจกรรมไม้ผลไม้ยืนต้น ร้อยละ 7 กิจกรรมพืชไร่
ร้อยละ 6 และกิจกรรมประมงและอื่นๆ ร้อยละ 1 โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 32 สามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้น
180 บาท/ครัวเรือน/เดือน และร้อยละ 9 มีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม
เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเต็มประสิทธิภาพ ควรสนับสนุนงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานอย่างเหมาะสม
กำหนดหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง/เกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย
สนับสนุนปัจจัยการผลิตอย่างพอเพียง
ครบถ้วน ตรงกับความต้องการของเกษตรกร พร้อมทั้งกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการทำบัญชีครัวเรือน มีการคัดสรรปราชญ์เกษตรกรที่เป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีความตั้งใจทำโครงการอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจากพื้นที่ทั่วประเทศ
เพิ่มเป็น 140,000 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรรายเดิมของปี 2560
จำนวน 70,000 ราย และของปี 2561 จำนวน 70,000 ราย โดย สศก. จะร่วมติดตามผลการดำเนินโครงการเป็นระยะต่อไป
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล
:
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา